Posted on

อย่ารีบตัดสินใจซื้อเครื่อง AED ถ้ายังไม่ได้อ่านเรื่องนี้ !

เครื่อง AED คืออะไร

    เชื่อว่าหลายๆคน น่าจะเคยเห็นกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวๆ ที่ติดตามฝาผนัง หรือเป็นตู้แท่งแบบตั้งพื้น ที่มีตัวอักษรเขียนว่า EMERGENCY หรือตัวอักษร AED ที่ติดอยู่ตามห้างสรรพสินค้า, โรงงาน, Lobby โรงแรม,  Lobby คอนโดมิเนียม, อาคารสำนักงาน, สนามกีฬา ฟิตเนส หรือตามพื้นที่สาธารณะ และหน่วยราชการต่างๆ กันมาบ้าง แล้วคุณเคยสงสัยมั้ยว่าเครื่อง AED ที่เห็นกันเนี่ย มันเป็นยังไง

    เครื่อง AED (Automated External Defibrillator) ภาษาไทยเรียกว่า “ เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ ” เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตในยามฉุกเฉิน ในกรณีที่มีผู้ประสบปัญหาทางด้านหัวใจ และในบางรุ่นยังสามารถใช้ในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

   เครื่อง AED นั้น ทำงานโดยใช้หลักการทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกง่ายๆได้ว่าเป็นอุปกรณ์การแพทย์แบบพกพา ที่ใช้กระตุ้นหัวใจผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจ โดยใช้กระแสไฟฟ้า หยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง ทำให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติได้ปกติอีกครั้ง

เครื่อง AED ยี่ห้อ CardiAid

เครื่อง AED ที่พบบ่อย มี 2 แบบ

    แบบที่ 1 เครื่อง AED แบบกดปุ่ม คือ ต้องกดปุ่มเปิดเมื่อต้องการใช้งาน หรือต้องการเปิดเครื่อง โดยผู้ช่วยเหลือจะต้องทำการกดปุ่มเปิดเครื่องบนตัวเครื่องด้วยตนเอง จากนั้นพอเครื่องเปิดทำงาน ผู้ช่วยเหลือกHทำตามขั้นตอนตามที่เครื่องบอก

    แบบที่ 2  เครื่อง AED แบบอัตโนมัติ (เป็นเครื่อง AED ที่มีความทันสมัย) วิธีการใช้เครื่องอัตโนมัติ ผู้ช่วยเหลือทำแค่เพียงเปิดฝาครอบเครื่องออก ตัวเครื่องจะเปิดการทำงานทันทีแบบอัตโนมัติ และยังมีเสียงบอกให้ผู้ช่วยเหลือทราบว่าจะต้องปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนอย่างไร    

โดยสรุป เครื่อง AED ออกแบบมาให้เป็นอุปกรณ์ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้งานได้อย่างง่าย สามารถนำไปใช้ปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ที่ช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการใช้งาน AED มาก่อน  คนทั่วไปก็สามารถใช้งานได้ง่าย เพียงทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ซึ่งสามารถประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ และช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจผู้ป่วยให้ได้อย่างทันท่วงที

เครื่อง AED ยี่ห้อ HeartSine Samaritan PAD

     วิธีการเลือกเครื่อง AED 

เครื่อง AED ที่จำหน่ายในประเทศไทย มีมายมายหลายยี่ห้อ หลายราคา และส่วนมากมักจะมี Function การทำงานที่คล้ายๆ กัน แต่…ถึงแม้ว่าเครื่อง AED จะมี Function การทำงานที่เหมือน ๆ กัน ในความเหมือนที่แตกต่างของเครื่องแต่ละยี่ห้อก็ยังมีอยู่  ดังนั้นหากต้องการเลือกใช้เครื่อง AED ให้ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งานของผู้ใช้มากที่สุด ก็สามารถยึดหลักวิธีการเลือกได้ง่าย ๆ โดยผมแนะนำให้พิจารณาดูตามหลักพื้นฐานขั้นต้น ดังนี้

  1. พิจารณาสภาพแวดล้อมที่จะใช้เครื่อง AED หากจะใช้กลางแจ้ง ต้องเลือกเครื่อง AED ที่มั่นใจได้ว่า ถึงแม้จะใส่ในตู้ แล้วต้องทนทานต่อสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ หรือหากจะใช้ภานในอาคาร เช่นเครื่อง AED ในโรงพยาบาล สถานที่สาธารณะ สถานที่ราชการ หรืออาคารอื่นๆ ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่อง AED ที่ท่านเลือกใช้ ควรจะเข้ากันได้กับอุปกรณ์และระบบที่มีอยู่เดิม
  2. เลือกเครื่อง AED ที่สามารถใช้งานได้ง่าย Function ต่างๆ ใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน มีภาพประกอบบนเครื่องที่เข้าใจง่าย มีเสียงบรรยายขั้นตอนการใช้เป็นภาษาไทยที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้ช่วยเหลือสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและปลอดภัย
  3. เลือกเครื่อง AED ที่มีอุปกรณ์ครอบคลุมทุกสถานการณ์ เช่น ควรเลือกเครื่องที่มีอุปกรณ์ประกอบเครื่องที่สามารถใช้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ มีอุปกรณ์ส่วนควบครบ แผ่น PAD นำไฟฟ้า ต่างๆ สายนำสัญญาณ แบตเตอรี่ คู่มือการใช้งาน และในตู้เก็บ AED ควรมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่จำเป็น
  4. เลือกเครื่อง AED ที่มีการถ่ายโอนข้อมูลการใช้งานได้โดยง่าย และหรือมีระบบติดตามแสดงผล มีการบันทึกเวลา มีการบันทึกการทำงานของเครื่อง มีการติดตามสถานะเครื่อง สถานะแบตเตอรี่ และตำแหน่งการเคลื่อนย้ายเครื่อง เพื่อนำมาเป็นรายงานอ้างอิงได้ (ในบางกรณีอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้รายงานต่างๆ ที่เครื่องบันทึกไว้ประกอบขั้นตอนทางกฎหมาย)
  5. เลือกเครื่อง AED จากผู้แทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ มีบริษัทที่ตั้งตัวตนชัดเจน มีการแนะนำการใช้งาน และบำรุงรักษา มีการรับประกัน มีการรับรองว่ามีอะไหล่รองรับ ไม่น้อยกว่า 5 ปี
เครื่อง AED ยี่ห้อ HeartPlus ( AED 4)

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่อง AED

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่อง AED ที่พบบ่อยที่สุด คือการระคายเคืองผิวหนังของผู้ป่วยบริเวณที่ปิดแผ่น PAD Electrode  ซึ่งโดยปกติสามารถแก้ไขได้โดยใช้แผ่น PAD Electrode ประเภทอื่นหรือเปลี่ยนตำแหน่งของแผ่น PAD Electrode และนอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น

  • เวียนหัว หรือหน้ามืด
  •  รู้สึกวิตกกังวลหรือประหม่า
  • ปวดหัวตุบๆ
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • เหงื่อออก
  • อัตราการเต้นของหัวใจหรือความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง
เครื่อง AED ยี่ห้อ Mindray BeneHeart C1A

สนใจเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ

AED (Automated External Defibrillator) ติดต่อ คุณกัมปนาถ

T. 097-1524554  id Line: Lphotline

Email: LPCentermail@gmail.com

www.Lifeprotect.co.th

Posted on

นิติบุคคลอาคารชุดฯ – อพาร์ตเม้นท์ ต้องทำยังไง ถ้าลูกบ้านติด COVID-19

นิติบุคคลอาคารชุดฯ – อพาร์ตเม้นท์  ต้องทำยังไง ถ้าลูกบ้านติด COVID-19

     ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2564 นี้ คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ  หรือ อพาร์ตเม้นต์ หลายๆ แห่ง คงมีผู้พักอาศัยที่เป็นผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อ COVID-19 บ้างแล้ว หรือบางห้องก็เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ต้องกักตัว 14 วันเพื่อสังเกตอาการ  หรือถ้ายังไม่มี ก็อาจจะมีในอีกไม่นานละครับ (ไม่ได้แช่งนะ แต่ทรงมันมาแนวนั้น) พี่น้องผู้จัดการอาคารต้องเตรียมตัวล่วงหน้ากันไว้นะครับ

     ในฐานะที่ผมทำงานด้านระบบปรับปรุงคุณภาพอากาศ และฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาล และอาคารสำนักงาน ผมได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจหน้างาน ให้คำแนะนำ และติดตั้งอุปกรณ์บริการให้กับโรงพยาบาลรัฐ และเอกชนหลายๆแห่ง รวมถึงคอนโดมิเนียมหรูกลางกรุง อีกหลายตึก  วันนี้เลยมีเกร็ดความรู้เล็กน้อย มาแนะนำแนวทางการบริหารจัดการของผู้จัดการ/คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด หรือทางอพาร์ตเม้นต์ ดังนี้ครับ

ข้อสำคัญ : เราต้องมองผู้ป่วย ที่อยู่ในคอนโดฯ หรือ อพาร์ตเม้นท์ของเรา เป็นครอบครัว เป็นเพื่อน

       เราต้องให้โอกาสเขา ให้เขาได้กักตัว รักษาตัว ให้เขาอยู่ในห้อง จัดให้เจ้าหน้าที่นิติฯโทรขึ้นไปพูดคุยทำความเข้าใจกับเค้า แนะนำการกักตัวตามมาตรฐานสาธารณสุข จัดอุปกรณ์วัดไข้ ถุงขยะติดเชื้อ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการกักตัว แนะนำขั้นตอน นัดเวลาการส่งผลการวัดไข้ แนะนำการสั่งอาหาร เวลาและวิธีรับอาหาร เพิ่มช่อง นัดเวลาและวิธีการเก็บขยะ ชี้แจงเหตุผลที่ต้องขอยกเลิก ตัดระบบ Key Card ตัดระบบการเข้าออกเป็นการชั่วคราว ขอรายละเอียดผุ้ติดต่อ ผู้ปกครอง หรือญาติ ของผู้ป่วย ให้เค้าจัดเตรียมเอกสารสำคัญที่จำเป็น บัตรประชาชน บัตรโรงพยาบาล เอกสารประกันชีวิต ฯลฯ ประสานงานโรงพยาบาลคู่ขนานในเขตพื้นที่ จัดทำแผนการรับตัว ส่งตัวไปรักษา ประสานงานบริษัทรักษาความปลอดภัย และบริษัทแม่บ้านรักษาความสะอาด ของอาคาร เพื่อกำหนดวิธีการร่วมกัน ให้เข้าใจตรงกัน หาวิธีเพิ่มช่องทางการสื่อสาร อาจจะสร้าง Account ใลน์เฉพาะกิจส่วนกลางของอาคาร ไว้ให้ผู้ป่วย ผู้กักตัว ได้ใช้แอดใลน์ส่วนกลาง ไว้สื่อสารกัน

    ถ้าจำเป็นที่เขาต้องออกนอกห้อง ซึ่งเขาอาจจะต้องไปโรงพยาบาล เราก็จัดให้มีการกำหนดเส้นทางการเดินให้ห่าง ไม่ปะปนกับผู้ใช้อาคารคนอื่น กำหนดให้ใช้ลิฟท์ เฉพาะเป็นตัวๆไป ซึ่งถ้าผู้ป่วยเข้าใช้แล้ว เมื่อออกไปก็ต้องมีการทำความสะอาด ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณที่ผู้ป่วยผ่านไป ทันที

    อันนี้เป็นคำแนะนำส่วนตัวของผม ตามที่ผมได้ไปเห็นได้ไปทำงานตามอาคารต่างๆมานะครับ ถ้าอย่างไรก็ขอให้ศึกษาจากคู่มือการปฏิบัติของสถานกักกันโรคทางเลือก (Alternative State Quarantine) ลว.17-4-63 ด้วยนะครับ

    ขอให้คิดซะว่า การที่เราช่วยให้เขาสามารถกักตัว และใช้ชีวิตอยู่ในห้องได้อย่างเหมาะสม เราเองและคนอื่นๆ ก็จะปลอดภัย และได้บุญ ด้วยครับ

    ** ผมไปอ่านเจอบทความดีๆ เกี่ยวกับการจัดการรองรับผู้พักอาศัยที่เป็นผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อ COVID-19 ในคอนโดมิเนียม / อพาร์ตเม้นท์ ที่เขียนโดยอาจารย์ นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์  ผมขออนุญาตเอามาแชร์ครับ

CREDIT ที่มาของบทความ : อาจารย์ นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ 

    ช่วงนี้หลายคอนโด/อพาร์ตเม้นต์ คงมีผู้พักอาศัยที่เป็นผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อ COVID-19 บ้างแล้ว หรือถ้ายังไม่มี ก็อาจจะมีในอีกไม่ช้า เลยขอแนะนำแนวทางการบริหารจัดการของผู้จัดการ/คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด หรือทางอพาร์ตเม้นต์ ดังนี้ครับ

ตู้อบฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UVC Philips

Step A:

A1: มาตรการป้องกันที่ควรมีอยู่แล้ว

– การทำความสะอาดจุดสัมผัสในพื้นที่ส่วนกลางที่มีผู้ใช้บ่อยๆ เช่น ปุ่มกดลิฟต์, ลูกบิด/ที่จับประตู, ราว, รถเข็นส่วนกลาง, ตู้กดน้ำ, อุปกรณ์ fitness ฯลฯ

– การดูแลพื้นที่ส่วนกลาง เช่น fitness, ห้องส่วนกลาง, ห้องประชุม, สนามเด็กเล่น, สวน ฯลฯ ตามมาตรการควบคุมโรค

– การขอความร่วมมือผู้พักอาศัย/บุคคลภายนอก/เจ้าหน้าที่ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเว้นระยะห่าง ในพื้นที่ส่วนกลาง

A2: มาตรการเตรียมรับมือ

– ประชาสัมพันธ์ให้ผู้พักอาศัยแจ้งหากทราบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ (ส่วนกรณีที่ต้องกักตัว แต่ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ พิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะให้แจ้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมีมาตรการดูแลอย่างไรหรือไม่)

– เตรียมแผนสำหรับกรณีมีผู้ติดเชื้อเอาไว้

– เตรียมช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงผู้พักอาศัยได้เร็วเอาไว้ (ควรมีหลายช่องทาง)

– เตรียมเบอร์ติดต่อของผู้เกี่ยวข้องเอาไว้ เช่น กรมควบคุมโรค โรงพยาบาลในพื้นที่ บริษัททำความสะอาด บริษัท supplier ของอุปกรณ์ส่วนกลาง ฯลฯ

– เตรียมเบอร์ติดต่อของคณะกรรมการและ จนท. ทุกฝ่าย ทุกคนของนิติบุคคล/อพาร์ตเม้นต์ เอาไว้

– เตรียมสื่อประชาสัมพันธ์กรณีต้องสื่อสารเรื่องการมีผู้ติดเชื้อ หรือมาตรการต่างๆ เอาไว้ก่อน

– เตรียมกำลังสำรอง กรณีต้องกักตัวเจ้าหน้าที่ของนิติบุคคล/อพาร์ตเม้นต์

– หากมีหมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านที่เกี่ยวข้องในอาคารชุด/อพาร์ตเม้นต์ ที่อาจเป็นที่ปรึกษาได้ พิจารณาสอบถามความสะดวกใจในการช่วยให้คำปรึกษา

– ทำความเข้าใจเรื่องวิธีการระบาดของโรค นิยามความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงของผู้สัมผัส (วงกลม 3 วง) แนวทางการดำเนินการสำหรับผู้สัมผัสแต่ละวง ฯลฯ

ล้อเลื่อนฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงรังสี PHILIPS UVC Trolley Gen2 ( แบบ 1 แขน 2 หลอด UVC : และแบบ 2 แขน 4 หลอด UVC )

Step B: การดำเนินการเบื้องต้นเมื่อได้รับแจ้งว่ามีผู้ติดเชื้อ

B1: ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก เราเตรียมรับมือไว้แล้ว/เรารู้ก่อนแล้วว่าเดี๋ยวก็คงถึงคราวที่ต้องดำเนินการ

B2: ตั้งหลัก รวบรวมข้อมูล (information gathering)

– ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าตัว ว่าเป็นผู้ติดเชื้อที่ทราบผลแล้วว่าเป็นบวก หรือแค่เป็นผู้สงสัยว่าติดเชื้อ รอผล หรือผลเป็นลบ แต่ต้องกักตัว ฯลฯ

– หากมีมากกว่า 1 คน ทำทะเบียนข้อมูลเป็นรายบุคคล (ควรดูแลความลับของข้อมูลให้ดี)

– กรณีเป็นผู้ติดเชื้อ (ผลบวก) อธิบายเจ้าตัวว่ามีความจำเป็นต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อการดูแลความปลอดภัยของผู้พักอาศัยโดยรวม และเพื่อการดูแลผู้ติดเชื้อเอง

– ขอทราบวันที่มีอาการ อาการที่เป็น (ถ้ามี) วันที่ไปตรวจ วันที่ทราบผล เพื่อเริ่ม establish timeline

– ขอ timeline ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคอนโด เช่น วันเวลาและตำแหน่งที่ใช้พื้นที่ส่วนกลาง วันเวลาเข้าออกคอนโด เท่าที่จะ recall ได้

– ขอทราบว่าทางโรงพยาบาลแนะนำอะไรบ้าง และจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไร

– ตรวจสอบกล้องวงจรปิดเพื่อเสริม timeline หากทำได้

– สำหรับประวัติการสัมผัสและ timeline ส่วนอื่นๆ นอกอาคารชุด/อพาร์ตเม้นต์ จริงๆ ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ภายในอาคารชุด/อพาร์ตเม้นต์โดยตรง อาจพิจารณาพูดคุยกับเจ้าตัวเพื่อสอบถามความสะดวกใจในการบอก timeline นอกคอนโดแก่ผู้พักอาศัย (การเปิดเผย timeline นอกอาคารชุด/อพาร์ตเม้นต์ เป็นเรื่องของหน่วยงานทางการ เช่น กรมควบคุมโรค กทม./จังหวัด และเจ้าตัว + เจ้าของพื้นที่ตาม timeline เอง ไม่ใช่เรื่องที่ทางอาคารชุด/อพาร์ตเม้นต์จะเปิดเผยโดยพลการได้เอง)

B3: ประเมินผลกระทบ (Impact Assessment)

– พิจารณาว่า ตามข้อมูล timeline ภายในคอนโด/อพาร์ตเม้นต์ พื้นที่ใดคือจุดเสี่ยงบ้าง โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านขนาดของพื้นที่ โอกาสการติดต่อผ่านจุดสัมผัส การถ่ายเทอากาศ จำนวน/ความหนาแน่นผู้ใช้บริการ พฤติกรรมการสวมหน้ากาก ระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่ และระยะเวลาตั้งแต่ผู้ติดเชื้อใช้บริการครั้งสุดท้ายจนถึงปัจจุบัน

เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศ แบบตั้งพื้น (Philips UVC Air Disinfection Unit)

Step C: การดำเนินการเพื่อแก้ไขสถานการณ์

C1: กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ และลำดับความสำคัญ

– ดูแลความปลอดภัยโดยรวมของผู้พักอาศัยและเจ้าหน้าที่ ไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อ

– ดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพทั้งกายและใจของผู้ติดเชื้อ/ผู้กักตัว (กรณียังไม่สามารถไปรับการรักษาที่ รพ. ได้ หรือกรณีที่ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อแต่ต้องกักตัวเองในที่พัก)

– ได้รับความร่วมมือจากผู้ติดเชื้อ/ผู้กักตัวในการปฏิบัติตัว

– การสื่อสารในภาวะวิกฤต (crisis communication) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ได้รับการยอมรับจากผู้พักอาศัย เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง

– การสนับสนุนของคณะกรรมการ

– ขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่

C2: เอาวัตถุประสงค์ในข้อ C1 ตามลำดับความสำคัญ มาตั้งเป็นโจทย์ในการดำเนินการ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการดำเนินการ (อาจแตกต่างตามบริบท)

C2.1 แจ้งกรมควบคุมโรค/ทางการ ตามกลไก

C2.2 ทำความสะอาดพื้นที่เสี่ยงที่ทราบตามข้อมูลใน timeline ภายในอาคารชุด/อพาร์ตเม้นต์ เพิ่มเติมเป็นพิเศษ เน้นจุดสัมผัสอย่างเต็มที่

C2.3 กรณีพื้นที่ส่วนกลางที่เสี่ยงสูง หรือยังคงมีโอกาสเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อ และสามารถปิดให้บริการได้ พิจารณาปิดให้บริการตามระยะเวลาที่เหมาะสม

C2.4 หากเป็นพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท พิจารณาการฉีดพ่นน้ำยาทำความสะอาดตามความเหมาะสม

   ข้อสังเกต: สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ไม่ได้แนะนำการฉีดพ่นน้ำยาในพื้นที่ต่างๆ เพราะเสี่ยงเรื่องละอองฝอยจากน้ำยาอาจทำให้เชื้อตามผิวสัมผัสปลิวขึ้นมาในอากาศง่ายขึ้น และไม่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์ในการป้องกันการแพร่ระบาดโดยตรง

   ดังนั้น ในความเห็นผม การดำเนินการอาจเป็นเรื่องการพยายาม take action และบริหารความคาดหวังของผู้พักอาศัยเป็นหลัก อาจพิจารณาทำถ้าเป็นพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท สามารถปิดพื้นที่ชั่วคราวได้ แต่หากเป็นพื้นที่เปิด อากาศถ่ายเทดี หรือมีผู้อื่นใช้บริการตลอด ไม่มีประโยชน์ ไม่ควรทำ

C2.5 แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ติดเชื้อ หากยังจำเป็นต้องพักอาศัยในห้องพักระหว่างรอเข้ารับการรักษาใน รพ.

– เริ่มต้นโดยการสอบถามอาการทางกายและสภาพจิตใจ เพื่อแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ (start with empathy)

– สอบถามให้แน่ใจว่าไม่มีอาการรุนแรงที่ควรต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์โดยเร็ว เช่น หายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว หายใจลำบาก หายใจไม่ออก เพลียมากผิดปกติ ฯลฯ

– ขอให้แจ้งผู้สัมผัสไปรับการตรวจ และหากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ให้กักตัว 14 วัน นับจากวันสัมผัสครั้งสุดท้าย

– แยกตัวจากผู้อื่น ไม่ควรมีคนอื่นพักในห้องพัก

– ห้ามออกจากห้อง (ยกเว้นกรณี รพ. รับไปรักษา หรือกรณีฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ โดยในกรณีเช่นนั้น ขอให้สวมหน้ากากและเว้นระยะห่าง เลี่ยงการสัมผัสจุดต่างๆ อย่างเต็มที่)

– หากทำอาหาร ซักผ้า เองได้ ขอให้ทำ

– ตกลงเรื่องมาตรการรับส่งอาหาร delivery ให้แจ้งเจ้าหน้าที่รับขึ้นมาไว้หน้าประตูห้อง เว้นระยะห่าง แล้วเจ้าตัวสวมหน้ากากแล้วนำเข้าไปเอง เปิดประตูเพียงช่วงสั้นๆ

– กรณีขยะที่จำเป็นต้องทิ้งเลย เก็บรอไว้ในห้องนานๆ ไม่ได้ เช่น เศษอาหาร ให้ใส่ถุงแยก 2 ชั้น ประสานเจ้าหน้าที่รับที่หน้าประตูโดยหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกัน สวมหน้ากากทุกครั้งก่อนเปิดประตู รับไปกำจัดโดยดูแลแบบขยะติดเชื้อ

– หลีกเลี่ยงการส่งซักรีดนอกห้อง เท่าที่ทำได้ (กรณีจำเป็น ให้ใส่ถุงแยก ระมัดระวังขณะซัก ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะสม)

– แลกเบอร์ติดต่อ และแจ้งแนวทางการติดต่อหากมีอาการแย่ลงที่ต้องรีบรับการรักษา หรือกรณีต้องการให้ช่วยเหลือ/ประสานงานอะไร รวมทั้งกรณีที่ได้รับการประสานงานจาก รพ. หรือ รพ. แจ้งแผนการรับไปรักษา

C2.6 เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ สื่อสารสถานการณ์ ความเสี่ยง การดำเนินการ แนวนโยบายและแนวทางการตอบคำถาม สิ่งที่ขอความร่วมมือ ให้โอกาสสอบถามและแสดงความรู้สึกเต็มที่ ดูแลขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่

C2.7 สื่อสารกับผู้พักอาศัย/ผู้ใช้บริการ

– กรณี timeline สามารถระบุผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงโดยตรงได้ แจ้งให้ทราบเป็นรายบุคคล แนะนำให้ไปตรวจหาเชื้อและกักตัว หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของ รพ.

– สื่อสารให้ผู้พักอาศัย/ผู้ใช้บริการทราบผ่านหลายช่องทางหากทำได้ ว่า มีผู้ติดเชื้อ แจ้ง timeline หรือพื้นที่เสี่ยงสูงภายในอาคารชุด/อพาร์ตเม้นต์ เท่าที่ทำได้ แจ้งแนวทางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ แจ้งสิ่งที่ขอความร่วมมือจากผู้พักอาศัย/ผู้ใช้บริการ (กรณีนี้ การแจ้งพื้นที่เสี่ยงในอาคาร เป็นกรณีที่มี duty to warn คือ หน้าที่ในการเตือนภัย แก่ผู้พักอาศัย/ผู้ใช้บริการ)

– ไม่ควรบอกชื่อ เลขห้อง ของผู้ติดเชื้อ/ผู้กักตัว เพราะไม่ได้มีประโยชน์เพิ่มเติม (ทางเจ้าหน้าที่ควรดูแลความเสี่ยงของพื้นที่ต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วอยู่แล้ว และไม่มี duty to warn เลย เพราะเชื้อไม่ได้กระโดดแพร่ผ่านอากาศจากห้องของผู้ติดเชื้อไปยังห้องอื่นเพื่อติดต่อไปยังผู้พักอาศัยคนอื่นโดยตรง) ทั้งการเปิดเผยยังมีความเสี่ยงกับสวัสดิภาพของเจ้าตัว และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิด incident ที่ทำให้เจ้าตัวไม่ปลอดภัย หรือทำให้เกิดผลร้ายต่อการดูแลตัวเอง หรือเกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

– การบอกชั้น ปีก และอาคาร ของผู้ติดเชื้อ พิจารณาชั่งน้ำหนักตามความจำเป็น ความเสี่ยง และความเหมาะสม

– กรณีผู้กักตัวที่ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ ไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งข้อมูลใดๆ เพราะยังไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ การแจ้งไม่มีประโยชน์เพิ่มบนข้อมูลที่มี และไม่มี duty to warn

– กรณีผู้ติดเชื้อ/ผู้กักตัวไม่ร่วมมือ พิจารณาแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่และการดำเนินการที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อผู้อื่น และสวัสดิภาพของผู้ติดเชื้อ/ผู้กักตัว ประกอบกัน

– กรณีผู้พักอาศัย/ผู้ใช้บริการ มีท่าทีคุกคาม ไม่ร่วมมือ bully หรือ harass ผู้ติดเชื้อ/ผู้กักตัว ดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของทุกฝ่าย และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ เป็นลำดับแรก และพยายามส่งเสริมการเข้าอกเข้าใจและเห็นใจกัน และชี้แจงการทำหน้าที่/มาตรการดูแลความเสี่ยงต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเหตุผลที่อาจไม่สามารถ/ไม่ควรทำตามที่ผู้พักอาศัย/ผู้ใช้บริการร้องขอ (ถ้ามี) หากจำเป็นอาจต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มาดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อย

– สื่อสารโดยยึดหลักการสื่อสารในภาวะวิกฤติที่ดี: สื่อสารเร็ว สื่อสารถูกต้อง ส่งเสริม trust ระหว่างกัน ไม่โกหกหรือปิดบัง ส่งเสริมความร่วมมือและการดำเนินการที่เหมาะสม

C2.8 การดำเนินการหลังผ่านระยะแรก

– พูดคุยกับผู้ติดเชื้อ/ผู้กักตัว เป็นระยะ เช่น วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อติดตามอาการ ประเมินสภาพจิตใจ ความร่วมมือ สิ่งที่ต้องการให้สนับสนุน อัปเดตการติดต่อประสานงานกับ รพ./แผนการมารับตัว

– พิจารณาสื่อสารกับผู้พักอาศัย/ผู้ใช้บริการเป็นระยะ โดยเฉพาะกรณีที่มีข้อมูลความเสี่ยงของผู้พักอาศัย/ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นหรือความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงไป หรือมีการดำเนินการที่ควรสื่อสารให้ทราบ

– monitor สถานการณ์ ความรู้สึก ความคาดหวัง และความเสี่ยงต่างๆ เป็นระยะๆ

– monitor ขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ นิติบุคคลเป็นระยะๆ

– ทบทวนการดำเนินการ ถอดบทเรียน ปรับปรุงเพื่อการพัฒนาสำหรับเหตุการณ์ครั้งต่อไป

ขอให้พวกเราทุกคนมีสติ และผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน โดยความปลอดภัยของทุกฝ่าย และความเข้าอกเข้าใจกันครับ

หลังจากอ่านบทความของอาจารย์แล้ว ก็ลองพิจารณาปฏิบัติกันดูนะครับ สุดท้ายนี้ ขอให้พี่น้อง เพื่อนฝูงทุกท่านมีความสุขในปีใหม่สงกรานต์ 2565 นี้ และรอดปลอดภัยจากเชื้อโควิด ทุกท่านครับ

ยินดีปรึกษาระบบปรับปรุงคุณภาพอากาศ ไม่มีค่าใช้จ่าย

ติดต่อคุณ กัมปนาถ

T. 097-1524554 Id Line: Lphotline

Posted on

รู้มั้ยว่า “เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก” กับ “เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด” ต่างกันยังไง ?

ที่ใช้ๆ วัดไข้กันอยู่ รู้มั้ยว่า “เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก” กับ “เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด” มันต่างกันยังไง ?

หมายเหตุ: บทความนี้ จัดทำขึ้นมาเพื่อแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับ Infrared Thermometer / Non Contact Thermometer

วันนี้ 4 กันยายน 2563 ได้ทราบข่าว คุณ DJ ที่เข้าเรือนจำคลองเปรม ตรวจพบว่าติดเชื้อ COVID-19 หลังจากที่เราไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมา 101 วัน พอดู Time Line การเดินทางของพี่ DJ แล้วก็นึกถึงว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราลั้ลลากันมา 101 วัน การ์ดตกกันไปเยอะ คราวนี้ก็คงถึงเวลา ยกการ์ด ใส่หน้ากาก ล้างมือ กินร้อน ช้อนกู รักษาระยะห่าง Social Distancing ยิงหน้าผากด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ กันอีกรอบแล้ว

มาวันนี้ 21 ธันวาคม 2563 มาใหม่อีกแล้ว จังหวัดสมุทรสาคร Lock down แรงงานต่างด้าวติดเชื้อกันทะลุ แปดร้อยกว่าคน !!

ได้เวลายกการ์ด….หาของป้องกัน คัดกรองเชื้อโรคกันอีกแล้วซินะ

         พูดถึงไอ้เครื่องยิงหน้าผากวัดไข้ ที่โดนจ่อยิงเวลาเข้าร้านสะดวกซื้อต่างๆ  บางวันวัดไข้แล้วตัวเย็น บางวันวัดแล้วตัวร้อนซะงั้น วัดอุณหภูมิแต่ละที่ทำไมไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากันเลย งงมาก จะเชื่อถือได้มั้ยเนี่ย !!

K3 Non-Contact Infrared Thermometer

         ผลพวงมาจากในช่วงที่โรค COVID-19 ระบาดรอบแรก พวกเราก็ตกใจตื่นตัวกัน หน่วยงานต่างๆ ก็ไปตระเวนหาซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิ มาให้เจ้าหน้าที่ใช้จ่อหน้าผากคนที่มาเข้าออกสถานที่ในความรับผิดชอบกันเป็นอย่างเอาจริงเอาจัง จนไอ้เจ้าเครื่องยิงหน้าผากวัดไข้เนี่ยขาดตลาด ของในไทยขาดตลาด แถมเมืองจีนก็โรคระบาดหนัก โรงงานปิดผลิตไม่ได้ ยิ่งทำให้ไม่มีของ นาทีนั้นใครมีของใว้ใน Stock นี่ถือว่าเป็นพระเอกมากๆ เรียกราคาได้ พอเมืองจีนเริ่มกลับมาผลิตได้ ราคาก็ถีบตัวขึ้นไปแพงมากๆ จนจับต้องแทบไม่ไหว คนขายใจร้ายบางรายก็ดันไปเอา Infrared Thermometer ของปลอมแบบที่ใช้วงจรสุ่ม Random ตัวเลขอุณหภูมิหลอกๆ มาขาย ตามที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ มีผู้ที่หลงซื้อไปด้วยความไม่รู้ก็หลายราย  

        ผมนี้โชคดี การทำงานที่ผ่านมาของผม ทำให้ได้คลุกคลี ทั้งวงการเครื่องมืออุตสาหกรรม วงการเครื่องมือแพทย์ วงการรักษาความปลอดภัย และงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็เลยพอจะมีความรู้ในสิ่งที่มันเกี่ยวเนื่องกัน…วันนี้ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ แบบชาวบ้านๆ ถึงเรื่องเครื่องวัดอุณหภูมิ Non Contact Infrared Thermometer และตัว IR Infrared Thermometer ที่เราเอามาใช้วัดไข้ คัดกรองผู้อาจติดเชื้อ COVID-19 ตัวร้อนเป็นไข้ กันอยู่ครับ

        เครื่องวัดอุณหภูมิที่เราเห็น และนำมาวัดไข้กันทุกวันนี้มันมีหลากหลายแบบ แต่ที่มีคนซื้อหามาใช้กันมากๆ มันมีอยู่ 2 แบบ แต่ด้วยความตระหนกตกใจที่เกิดจากการระบาดของโรครอบแรก เลยแห่ไปซื้อกันมาใช้ ก็ไม่รู้ว่าแบบที่ซื้อมามันถูกหลักการทำงานหรือเปล่า มันควรเอามาวัดไข้กันจริงๆ ใช่มั้ย ?  เอาละ การระบาดรอบใหม่ จะเกิดขึ้นหรือเปล่าไม่รู้ เผื่อว่าท่านผู้อ่าน อาจจะใช้ความรู้ที่ได้จากบทความนี้ ไปพิจารณาเลือกใช้เครื่องวัดอุณหภูมิได้ถูกต้องครับ

K3 Non Contact Infrared Thermometer ใช้วัดอุณหภูมิร่างกาย ทางฝ่ามือ และหน้าผาก (การวัดอุณหภูมิที่ดีควรวัดที่หน้าผาก)

       หลักการทำงานของเครื่องวัดอุณหภูมิ ถ้าเป็นชนิดมือถืออันเล็กๆ สีขาว ขอบสีฟ้า ขอบสีชมพู ขอบสีเขียว แบบที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 รอบแรก ไอ้แบบที่พนักงานเซเว่น อีเลฟเว่น ใช้จ่อหน้าผากเราก่อนเข้าร้าน หรือ เครื่องวัดอุณหภูมิแบบด้ามเหลืองๆ หรือตัวเหลืองขอบดำ หรือตัวสีดำๆ แบบที่พวกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้ง 2 แบบนี้ใช้หลักการทำงานเดียวกัน โดยใช้ระบบตรวจจับ นับค่าปริมาณรังสีอินฟราเรดที่แผ่ออกมาจากวัตถุ ครับ

ทีนี้เรามาดูรูปลักษณ์ ที่จริงเขาก็ผลิตแยกมาให้เห็นความแตกต่างชัดเจนครับ ตามภาพ

Non Contact Infrared Thermometer เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้

       เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก (Infrared Non Contact Thermometer) แบบตัว สีขาวขอบฟ้า หรือขอบม่วง ฯลฯ อันนี้แหละใช้งานทางการแพทย์ ใช้วัดไข้ เมื่อเอามาวัดอุณหภูมิที่หน้าผาก เครื่องจะวัดได้อุณหภูมิแกนกลางร่างกาย และเครื่องจะมีระบบคำนวณสมการ สามารถแยกแยะได้ ไม่ว่าจะวัดอุณหภูมิร่างกายขณะอยู่ในห้องแอร์ หรือนอกห้องแอร์ มันสามารถคำนวณให้ได้ (แต่อย่าไปวัดกลางแจ้งนะ เพราะระบบคำนวณมันจะเอ๋อๆ เพี้ยนๆได้) การใช้งานก็แค่เอาไปจ่อหน้าผากใกล้ๆ แล้วบีบปุ่มกดทีด้าม โดยเครื่องจะล็อคค่า Emissivity* การตรวจวัด ไว้ให้เหมาะสมกับคน ที่ 0.98 + – 0.02 และมีค่าความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิไม่เกิน + – 0.3 องศาเซลเซียส สามารถตั้งค่าการวัดอุณหภูมิ ได้ที่ช่วง 30 – 40 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าหากตรวจพบผู้ตัวร้อนเกินช่วงอุณหภูมิที่กำหนดตั้งค่าไว้ เช่นตั้งไว้ 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าเครื่องตรวจพบผู้ที่อุณหภูมิสูงกว่าที่ตั้งไว้มันก็จะร้องเตือน และมีแสงสีกระพริบที่หน้าจอแสดงผล (การใช้งานควรหยุดพักเครื่องบ้าง ถ้าใช้งานถี่ๆ หนักๆ ระบบเครื่องอาจจะเอ๋อๆ ได้)

*Emissivity คือ ความสามารถในการสะท้อน รังสีอินฟราเรดของวัตถุ โดยผิวหนังมนุษย์จะมีค่า Emissivity = 0.98

Infrared Thermometer กับ Infrared Thermal Camera มันคนละอย่างกันนะ

เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดสำหรับอุตสาหกรรม (Infrared Thermometer IR) แบบตัวสีเหลืองๆ หรือเหลืองปนดำ หรือตัวสีดำๆ บางตัวก็ตัวเล็กๆ บางตัวมันก็จะใหญ่ๆหน่อย ตัวแบบนี้ราคาแพงมากๆ ด้วยนะ มันเหมาะสำหรับงานใช้วัด วัสดุพื้นผิวด้านอุตสาหกรรม หรือไว้ส่องความร้อนของเครื่องจักร มอเตอร์ หรือเพลาขับ ที่กำลังหมุน ที่กำลังทำงานแล้วอาจเกิดความร้อน เครื่องแบบนี้สามารถวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ – 20 องศาเซลเซียส ไปจนถึง 300 องศาเซลเซียส ในตอนนั้นที่โรค COVID-19 ระบาดรอบแรก ตัวเครื่องวัดอุณหภูมิแบบ Non Contact Thermometer ทางการแพทย์ขาดตลาด  ก็มีหน่วยงาน และอาคารสำนักงาน ห้างร้านจำนวนมาก ได้ซื้อเครื่อง IR In frared Thermometer แบบนี้ นำไปใช้วัดไข้แก้ขัด แบบขอให้มีใช้ตามมาตรการป้องกันฯ ไปก่อน อันที่จริงผิดครับ มันใช้วัดอุณหภูมิผิวหนังได้ก็จริง แต่มันใช้วัดไข้ไม่ได้ครับ ค่าความคลาดเคลื่อนมันเยอะ ถ้ามีไข้มันบอกไม่ได้นะครับ เอาเครื่องแบบนี้ไปใช้วัดในห้องแอร์แบบที่ห้างดังกลางกรุงใช้อยู่ หรือจะใช้วัดนอกห้องแอร์ มันก็วัดให้ได้ทั้งนั้นแหละครับ แต่มันเพี้ยนเยอะ มันไม่แม่นยำ เครื่องแบบนี้ เอามาใช้วัดห่างๆ หน้าผากก็ยังไดครับ บางสถานที่ใช้ไอ้เครื่องสีเหลืองตัวใหญ่ๆ หรือสีดำตัวใหญ่ๆ ที่ใช้ตั้งบน Tripod 3 ขา ตั้งส่องคนเดินเข้าห้างเลยก็มี เครื่องแบบนี้ มันมีเลเซอร์กะระยะ ยิงออกไปด้วยนะ เล็งยิงส่องนำทางไปที่จุดที่ต้องการวัดอุณหภูมิได้เลย (แต่มันไม่ควรมาใช้กับคน) เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดสำหรับอุตสาหกรรมนี้ สามารถตั้งค่า Emissivity ได้ตั้งแต่ 0.10-1.00 ซึ่งนั่นทำให้สามารถใช้วัดวัสดุได้หลายอย่าง แต่มันจะไม่มีความละเอียด มันมีค่าความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิ ถึง + – 2 องศาเซลเซียส (คลาดเคลื่อนเยอะมาก ไม่แม่นยำแบบนี้วัดไข้ไม่เจอแน่นอน) และในการใช้เครื่อง Infrared Thermometer แบบใช้ในอุตสาหกรรมนี้ ส่องหน้าผาก แล้วพบว่ามีผู้อุณหภูมิสูงเกินกว่าที่กำหนด เครื่องแบบนี้มันก็ไม่ได้แจ้งร้องเตือนอะไรนะครับ ผู้ใชงานต้องคอยดูหน้าจอ ดูตัวเลขอุณหภูมิเอาเอง (ก็เพราะมันไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้วัดไข้นี่นา) แต่ข้อดีของมันคือตัวเครื่องมันอึด ถึก ทนมากๆ ครับ เพราะมันเป็นเครื่องเกรดอุตสาหกรรม มันทน มันอึด ใช้งานทั้งวันก็ไม่เป็นไร

ได้อ่านมาจนจบถึงตรงนี้แล้ว ทีนี้เราก็ต้องมาเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกต้องกันล่ะครับ

การวัดไข้ที่จะให้แม่นยำถูกต้อง เราก็ควรเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกกับงาน ไม่เช่นนั้นเราก็อาจจะไม่รู้ว่า คนที่เดินเข้ามาให้ยิงหน้าผาก มีไข้ หรือ ไม่สบายรึปล่าว

(ในวันหน้า ผมจะมาเล่าเรื่องความแตกต่าง ระหว่าง Infrared Thermal Thermometer กับ Infrared Thermal Camera อีกทีครับ)

กัมปนาถ ศรีสุวรรณ (4/09/2563)

บริษัท ไลฟ์ โพรเทค จำกัด

Hotline : 097-1524554 id Line: Lphotline

Office : 02-9294345 Fax. 02-9294346

email : LPCentermail@gmail.com

ส่งมอบและแนะนำการใช้งาน K3 Non Contact Thermometer สินค้ารับประกัน 1 ปี และสามารถออกใบกำกับภาษีได้
เครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศด้วยแสงรังสี UV-C ” Philips ” รุ่น Upper Air Ceiling Type ติดตั้งในร้านกาแฟ
Posted on

หลักในการเลือกซื้อเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อโรค (ULV Fogger) และน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

วันนี้เรามาคุยกันเรื่องหลักในการเลือกซื้อเครื่องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคภายในอาคาร และการเลือกใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคในการฉีดพ่น กันครับ

                รูปแสดงเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคชนิดละอองฝอยละเอียด SF-130 และ SF-131

 

          ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคภายในอาคาร เป็นเพียงการฆ่าเชื้อโรคในวันนั้น และอาจจะมีเชื้อโรคเข้ามาอีกเมื่อใหร่ก็ได้ เช่นพ่นยาฆ่าเชื้อในอาคารวันนี้ พรุ่งนี้มีคนที่ติดเชื้อเข้ามาในอาคาร ไอที่พ่นไปเมื่อวานหมดความหมายทันที ต้องพ่นใหม่ ไอที่มาโฆษณาบอกว่าพ่นยาฆ่าเชื้อโรคแล้วพื่นที่จะสะอาดปราศจากเชื้อไป 30 วันนั้น อย่าไปเชื่อครับ โกหกทั้งนั้น ของจริงอยู่ได้ให้ถึง 7 วันก็ดีใจตายชักแล้ว

เอ้า.. มาเข้าเรื่อง

มีเรื่องร้อนๆ ในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน 2563 นี้ วงการบริษัท ที่รับฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคตามอาคารสถานที่ ต่างๆ และวงการจำหน่ายน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นเป็นเพราะสถานการณ์ โรคระบาด COVID-19 ทำให้เกิดการตื่นตระหนก ตกใจ Panic กันไม่เว้น แม้แต่ลูกเล็ก เด็กแดง ทำให้มีการติดต่อไปบริษัทต่างๆ ให้เข้าไปพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในบ้านที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรม โรงงาน ห้างสรรพสินค้า ยอดจองคิวงานยาว ถึงขนาดผู้ให้บริการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบางรายถึงกับร้องว่าไม่เคยเจอกับเหตุการณ์จองคิวงานเช่นนี้มาก่อน

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ ผู้ประกอบการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ต่างคนต่างแย่งกันหาเครื่องมือมาเสริมทัพเพื่อรับงาน  หรือแม่แต่คนที่ทำธุรกิจอื่นๆอยู่ แต่ธุรกิจชะงักตัว ก็หันกระโดดเข้ามาสู่วงการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทำให้ Demand : Supply มัน Over รวนไปหมด

นั่นทำให้เกิดสิ่งที่ตามมาว่า

  • เครื่องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคขาดตลาด และมีราคาสูงขึ้นถึง 150% (เมื่อตอนปี 2561 เครื่องพ่นยาแบบพ่นละอองฝอย ชนิดใช้ไฟฟ้า ULV Cold Fogger  ตัวยี่ห้อดีๆ ราคา 12,000.- ถึง 20,000.-บาท  ผู้จำหน่ายต้องอ้อนวอนขอให้ลุกค้าช่วยซื้อ มาวันนี้ 12 เมษายน 2563 รุ่นเดียวกันราคาขายพุ่งไป  28,000.-  ถึง 35,000.-บาท ผู้ซื้อต้องอ้อนวอน ขอให้ผู้ขายช่วยหาของมาขายให้ แถมยังต้องรอของอีกด้วย ไม่ใช่มีตังค์ กำเงินสดมาแล้วจะซื้อได้เลย ต้องรอ บางเจ้าถึงกับเปิด Pre-Order กันเป็นล่ำเป็นสันเลย
  • น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ก็พลอยขาดตลาดกลายเป็นของหายาก และมีราคาแพงตามขึ้นไปด้วย (ยี่ห้อดังจากเบลเยี่ยม ราคาขายพุ่งไปลิตรละ 5,000.-บาท)  BKC ก็ขาดตลาด
  • ชุด PPE ที่ใช้ในการสวมใส่ขณะฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ก็ขาดตลาด และมีราคาสูงขี้นไปอีก 100% (เมื่อก่อนชุด PPE 3 M ใน HomePro วางขายใน Shelf ราคา 280.-บาท ยังเหลือเต็ม Shelf ไม่มีใครสนใจ ตอนนี้ตาม Shelf ไม่มีของต้องตามหาใน Facebook ตัวละ 600-650 ยังต้องยอมซื้อ)

ทำยังไงดีล่ะที่ เห็นเขารับงานกันจนสายโทรศัพท์แทบใหม้  คิวงานจองกันยาวยิ่งกว่างานโชว์ตัวน้อง Lisa Blackpink  เราก็อยากจะรับงานมั่ง ถ้าเป็นผู้ประกอบการฉีดพ่นน้ำยารายเดิม ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ มีกลุ่มลูกค้าในมืออยู่แล้ว ก็ได้เปรียบเพราะมีทีม มีเครื่องมือที่ถูกต้องตามมาตรฐานสาธารณสุข มีแหล่ง Supply น้ำยาฆ่าเชื้อ อยู่แล้ว ก็จะหมุนๆ บุคคลากร เดินสายรับงานกันไป เหนื่อยเพิ่มขึ้นแต่รับทรัพย์กันไปเต็มๆ

แต่!!….ผู้ประกอบการที่เพิ่งกระโดดเข้ามาสุู่วงการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคล่ะ อยากรับงานเต็มแก่ เห็นเขารับงานกัน อยากรับงานจะแย่อยู่แล้ว เครื่องพ่นยาแบบ ULV Cold Fogger ก็หาไม่ได้สักที น้ำยาฆ่าเชื้อโรคก็แพงแสนแพง ด้วยความเป็นหน้าใหม่ ถ้าไม่มี Connection ก็โดนฟันหัวแบะ !! แต่.. อ่าห์..เหมือนพระมาโปรด นั่งไถๆ ส่องดู Facebook ส่อง Shopee, LAZADA เจอคนมาโพสท์ขาย กาพ่นสี พร้อมปั๊มลมมั่งละ, เครื่องพ่นแบบ Air Brush ตัวเล็กๆ มั่งละ, น้ำยาแอลกอฮอล์ มั่งล่ะ ยาฆ่าเชื้อโรคที่จดแจ้ง อย. วอส. มั่งล่ะ, ยาฆ่าเชื้อโรคที่จดแจ้งขึ้นทะเบียนปศุสัตว์ มั่งละ โฆษณากันยกใหญ่ว่า ทั้งหมดนี้มีของพร้อมส่ง

ถ้าท่านเจอเซลส์..ที่ไม่มีความรับผิดชอบ ฉวยโอกาส โม้ๆ ไปเพื่อให้ลูกค้าเชื่อ ตัวเองได้ยอด ” โอ๊ยพี่ ไปรอของนาน ซื้อแพงทำไม ใช้กาพ่นสี ต่อปั๊มลม ใส่แอลกอฮอล์ ก็พ่นในอาคารได้เหมือนกันครับพี่  อีกรายก็ ” โห..ไอน้อง เครื่อง ULV Cold Fogger น่ะ รอของนาน แพงด้วย น้องใช้เครื่องพ่นเกษตรกรแบบที่พ่นในสวนนี่แหละ ปรับละอองให้ฝอยละเอียด ใช้ได้เหมือนกัน” เซลส์ได้กล่าวใว้

เอาละซิทีนี้..ตามที่เขาว่ามามันก็ฉีดพ่นออกมาได้จริงๆ นะ แต่เป็นการพ่นแบบสเปรย์พื้นที่ (Space Spray) มันเปียก เอ็งต้องสะกดชัดๆ ดูปากพี่ด้วยนะ ว่า “มันเปียก” ใช่ครับ ความละเอียดของละอองมันไม่ได้ มันหยาบเป็นหลักร้อยไมครอน มันไม่ได้มาตรฐานการฉีดพ่นภายในห้อง ภายในอาคาร  ตามที่สาธารณสุขแนะนำ ก็มันเป็นเครื่องกาพ่นสี เป็นเครื่องพ่นยาศัตรูพืช ละอองมันออกมาหยาบ พื้ินของบ้านลูกค้า พื้นออฟฟิศลูกค้าเปียกหมด พรมก็เปียกแฉะ อัตราการสิ้นเปลืองน้ำยาจะสูง (550 cc./นาที) บางรายพ่นไปเผลอไปทำเอกสารลูกค้าเปียกด้วย ที่ Print มาเยิ้มไปหมด  โอ๊ย !! เปียกเห็นชัดๆเลย OK ไอ้แบบนี้ถ้าเอาไปพ่นภายนอกอาคารมันได้ ไม่เป็นไร (แต่เปลืองน้ายา) แต่ถ้าพ่นภายในอาคาร มันไม่ได้ครับ มันไม่เหมาะต่อการหวังผลฆ่าเชื้อภายในอากาศ มันไม่ Aerosol

พล่ามมาตั้งนาน  เอางี้ หลักในการเลือกใช้เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อโรค แบบพ่นละอองฝอยละเอียด (ULV Cold Fogger) มีดังนี้

                 รูปแสดงเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคชนิดละอองฝอยละเอียด แบบไร้สาย (ใช้ ฺBattery)

 

หลักการเลือกใช้เครื่องพ่นยาแบบหมอกละอองฝอย ULV Cold Fogger    (ย้ำนะครับว่า ต้องเป็นเครื่อง ULV Cold Fogger ของแท้)

  • มีแรงดันต่ำ และค่าขนาดเม็ดน้ำยาที่เครื่องผลิตได้  Volume Median Diameter (VMD) ควรมีขนาดใหญ่สุดต้องไม่เกิน 60 um (ไมครอน) * แต่ที่ผู้เขียนใช้งาน จะปรับตั้งค่าละอองใช้งานใว้ที่ 20-30 um
  • เครื่องพ่นฝอยละอองนี้ ขนาดเม็ดน้ำยาที่ดีที่สุดควรเป็น 5-27 um เพราะฉะนั้น ค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้บอกคุณภาพเครื่องว่าผลิตเม็ดยาที่มีคุณภาพสูงสุด คือค่า VMD = 27 um หรืออาจจะพูดได้ว่า ร้อยละ 85 มีขนาดเม็ดน้ำยาเล็กกว่า 27 um ซึ่งอาจหมายถึง กว่าร้อยละ 99 ของละอองน้ำยาที่มีขนาดฝอยละอองละเอียดในอากาศ (Aerosol) ละอองไม่เกิน 50 um จะลอยฟุ้งในบรรยากาศได้นาน ใช้ประโยชน์จากละอองน้ำยาทุกเม็ดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ขณะพ่นต้องปิดประตู หน้าต่างให้หมด และเป็นการพ่นแบบละอองในอากาศ (Aerosol) เพื่อต้องการกำจัดเชื้อโรคที่แพร่มาทางอากาศ (Airborne)

Droplet _Air Boneรูปแสดง DropLet และ AirBorne (Credit รูปภาพจาก Page Rational Drug Use)

   หลักในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อโรค

ให้ดูลักษณะทางกายภาพ และเอกสารประกอบ ดังนี้

1. ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างถูกต้อง (ไม่ใช่ทะเบียน ปศุสัตว์, ประมง)
2. มีเอกสาร MSDS หมายถึงเอกสารที่แสดงข้อมูลของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสารนั้นๆ
3. มีผลทดสอบประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อจากสถาบันวิจัยที่น่าเชื่อถือรับรอง โดยจะต้องสามารถทำลายเชื้อได้อย่างครอบคลุม (ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา) ภายในเวลาที่กำหนด
4. มีผลทดสอบรับรองความปลอดภัย ค่าความเป็นพิษเฉียบพลัน LD50 และ skin test ต้องมีความเป็นพิษต่ำ (>2000mg./kg)
5. พิจารณาจากทางกายภาพ ต้องไม่มีกลิ่นฉุนรุนแรง ไม่ระคายเคืองผิวหนัง ไม่กัดกร่อนวัสดุ ไม่จุดติดไฟ
6. พิจารณาจากคุณสมบัติ ต้องสามารถย่อยสลายได้ ไม่ทิ้งสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม
7. มีอัตราส่วนเพื่อการใช้งานที่แน่นอน วิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยาก ถูกต้องตามหลัก Infection Control

8. หลีกเลี่ยงสารที่นิยมใช้ในการฆ่าเชื้อโรคทางด้านปศุสัตว์ ใช้ในคอกสัตว์เลี้ยง เช่น กูลตารัลดีไฮด์ ฟอมัลดีไฮด์ ฟีนอล (หลายองค์กรยังหลงใช้สารเหล่านี้มาทำการฉีดพ่น)

9. ผู้ขายและผู้ให้บริการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ต้องมีความเชี่ยวชาญ สามารถให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้

      สรุป

การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ควรพ่นในสถานที่ปิด ก่อนพ่นปิดหน้าต่างให้เรียบร้อย เก็บเอกสารสำคัญ และคลุมเครื่อง Computer กันพลาด (เครื่องคอมพิวเตอร์ ค่อยเอาผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อโรค บิดหมาดๆ เช็ดเอา) ขณะทำการฉีดพ่นห้ามมิให้คนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่ในห้อง หรือในอาคาร ฉีดพ่นเสร็จแล้ว ปิดประตูห้อง ปิดอาคาร ทิ้งใว้ 1-2 ชั่วโมง ถึงจะกลับเข้าไปใข้พื้นที่ได้

การมอบหมายให้พนักงาน เข้าไปฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในอาคาร ควรใช้คนให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเพิ่ม และการฉีดพ่นต้องมีระยะเวลาการฉีดที่เหมาะสม ให้ละอองน้ำยากระจายไปทั่วห้อง ไม่รีบเร่งเดินฉีดเร็วเกินไป หรือช้าเกินไป  และเมื่อปฏิบัติการฉีดพ่นฯ เสร็จ ให้รีบทำการ Decontamination ผู้เข้าปฎิบัติการฉีดพ่น ก่อนที่จะถอดชุด Level C ออก (กรณีใส่ชุดอวกาศ Level C ทำการฉีดพ่นยา) และถ้าหากชุดอวกาศ เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use / Disposable) ให้นำชุดที่ถอดใส่ถุงขยะสีแดง (ถุงขยะปนเปื้อน) เพื่อเวลานำไปทิ้งถังขยะ และคนเก็บขยะมาเก็บ เขาจะได้รู้ว่าถุงขยะใบนี้ปนเปื้อน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เทคนิคการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแบบละอองฝอย เป็นการลดปริมาณเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค ต่างๆในพื้นที่ลงเท่านั้น เพือให้เป็นการง่ายต่อการควบคุมโรคในพื้นที่นั้นๆ เป็นการควบคุมโรคไม่ให้เกิดเชื้อปนเปื้อนในพื้นที่ และไม่ควรพ่นยาฆ่าเชื้อโรคใส่ตัวคนที่ติดเชื้อโดยตรง (ตามที่กรมอนามัยออกมาเตือน)

ที่จริงแล้วเราควรแนะนำลูกค้าใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ชุบผ้าสะอาดทำความสะอาดเช็ดถูจุดสัมผัส ภายในบ้าน ภายในอาคารอย่างสม่ำเสมอ เช่นบริเวณลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟท์ ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อขจัดฝอยละอองกระเด็นจากสารคัดหลั่ง (Droplet)

Droplet คือปัญหาที่แท้จริงของการระบาดของโรคที่มีฝอยละอองกระเด็นของสารคัดหลั่ง เป็นตัวที่ทำให้ติดต่อระหว่างคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ฉะนั้นการการกำจัดเชื้อ เพื่อป้องกันและควบคุมโรค ด้วยการทำความสะอาด เช็ด ถู แช่ ล้างอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการสัมผัสหรือใช้ร่วมกัน เป็นวิธีการกำจัดเชื้อ Covid-19 ที่มีความสำคัญอย่างมาก

ดังนั้น ท่านอย่าไปคิดว่าการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแล้ว จะสามารถกำจัดเชื้อ Covid-19 ได้ 100%  มันมีระยะเวลาหลังจากฉีดพ่นไปแล้ว 5-7 วัน แต่ถ้าภายในช่วงนั้นมีคนติดเชื้อเข้ามาในพื้นที่ ในพื้นที่นั้นก้เสี่ยงต่อการมีเชื้อล่องลอยอยู่ครับ

การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค เป็นการกำจัดเชื้อเพื่อป้องกันเท่านั้น

  หมายเหตุ: 

  • ลูกค้าควรขอเอกสารรับรอง และสอบถามข้อมูลต่างๆ จากผู้ขายหรือผู้ให้บริการให้ชัดเจน ครบถ้วน
  • อย่าให้ประเด็นเรื่องราคาค่าฉีดพ่นต่อตารางเมตร ทีมักมีบริษัทรับฉีดพ่นยาฯ เสนอราคามาต่ำแสนต่ำ จนท่านไขว้เขว แล้วนำเรื่องราคา มาเป็นเหตุผลหลักในการพิจารณาเลือกซื้อ เลือกใช้บริการการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคนะครับ
  • งานบริการด้านการควบคุม และป้องกันเชื้อโรคเป็นงานละเอียดอ่อน ก่อนใช้จ่าย ควรคิดให้รอบคอบครับ
                                 เครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคชนิดละอองฝอยละเอียด แบบไร้สาย

         

            กัมปนาถ ศรีสุวรรณ  12/04/2563

  • ผู้จัดการบริษัท ไลฟ์ โพรเทค จำกัด
  • คณะทำงานศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกลาง  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  • ครูความปลอดภัย สมาคมการดับเพลิงและช่วยชีวิต (FARA)
  • ทีมสนับสนุนทางการแพทย์กรณีภัยพิบัติ DMAT  Thailand (TAFTA)
  • ผ่านการฝึกเป็นผู้อำนวยการ การเก็บกู้ภัยสารเคมี HAZMAT Decontamination (TAFTA)
  • ทีมค้นหาและกู้ภัย SAR 42 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  • ฺครูฝึก Basic Life Support Instructor (TRC Card) สมาคมโรคหัวใจ โควต้ากระทรวงมหาดไทย
  • ครูฝึกพนักงานรักษาความปลอดภัยชั้น 4 สถาบันรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI)
  • Examiner ผู้ควบคุมสอบ ระดับ 4 สาขาป้องกันการสูญเสีย ธุรกิจค้าปลีก สถาบันปัญญาภิวัฒน์ และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย (PIM/TRA /TPQI)
  • ASSESSOR ผู้ตรวจประเมินองค์กรรับรองสมรรถนะวิชาชีพ (TPQI)
  • คณะทำงาน ที่ปรึกษาการป้องกันการก่อการร้ายต่อพื้นที่เสียงในเขตเมือง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

*************************************************